โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ‘เซโรโทนิน (Serotonin)’ มีปริมาณลดลง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ และความคิด รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข มีแต่ความวิตกกังวล และหากปล่อยไว้ ผู้ป่วยอาจคิดสั้นฆ่าตัวตายได้

สาเหตุหรือปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้น
-ความเครียดสะสม
-การสูญเสียครั้งใหญ่
-สภาพจิตใจที่เกิดจากการเลี้ยงดู
-ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างไม่ราบรื่น
-ความเสี่ยงทางพันธุกรรม
-เครียดสะสม ภาวะอันตรายทำลายสุขภาพ

ความเครียด เป็นภาวะของความรู้สึก ความคิด หรืออารมณ์ที่เกิดจากการบีบคั้นกดดัน เมื่อมีภาวะความเครียดสะสมเป็นเวลานาน นอกจากจะทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลงแล้ว ภาวะความเครียดอาจกลายเป็นภาวะซึมเศร้าหรือทำให้เราเป็นโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งปัจจุบัน เป็นอาการที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก ส่งผลให้มีอาการทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และความคิด และกระทบต่อการดำเนินชีวิตในแต่ละวันอย่างมาก

ทุกคนต้องเจอกับภาวะความเครียดอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่า เราจะรับมือและจัดการความเครียดนี้ได้อย่างไร?

หากเครียดมาก จะทำให้เสี่ยงเป็นหลายโรค เพราะความเครียดไม่ได้ส่งผลร้ายต่อจิตใจเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลต่อปัญหาสุขภาพกายอีกด้วย ซึ่งนี่คือ 5 อาการเตือนจากร่างกายที่บอกว่า คุณกำลัง “เครียด” เกินไปแล้ว

1.น้ำหนัก ขึ้นลง อย่างรวดเร็ว
ความเครียดมักไปกระตุ้นร่างกาย ให้หลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมาในปริมาณมาก ทำให้เกิดความหิวตลอดเวลา และบางครั้งความเครียดก็ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีน ทำให้กระบวนการเผาผลาญถูกเร่งให้ทำงานเร็วขึ้นกว่าปกติ

2.ป่วยง่าย
ความเครียดทำให้ร่างกาย หลั่งฮอร์โมน คอร์ติซอลในปริมาณมาก ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อคอร์ติซอลน้อยลง จึงทำให้เกิดการติดเชื้อต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

3.ท้องอืด ลำไส้แปรปรวน
หากมีความเครียดสะสมเป็นเวลานาน ร่างกายจะหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหารออกมามากกว่าปกติ จึงทำให้เกิดอาการท้องอืด ลำไส้แปรปรวน กรดไหลย้อน ได้

4.ปวดศีรษะ
การปวดหัวศีรษะจากความเครียด อาจมีอาการปวดตื้อๆ รอบหน้าผากและหนังศีรษะ

5.นอนไม่หลับ
ความเครียดทำให้เกิดภาวะนอนไม่หลับ เนื่องจากร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลายๆ ชนิด นอกจากนี้ ความวิตกในเรื่องที่เครียด ยิ่งทำให้นอนไม่หลับมาก หรือหลับก็หลับไม่สนิท ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย หงุดหงิดและเจ็บป่วยง่าย

อาการแบบไหนเสี่ยงโรคซึมเศร้า
มีอารมณ์ซึมเศร้า
อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
รู้สึกตนเองไร้ค่า สิ้นหวัง
เบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมากกว่าปกติ
นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป
คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย หรือทำร้ายตัวเอง
ความสนใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก
น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก
สมาธิลดลง ใจลอย ลังเลใจไปหมด
กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง

คุณเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่?

หากมีอาการข้างต้น 5 อาการ หรือมากกว่า พบว่าตนเองมีอาการข้างต้นอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยมีอาการอยู่เกือบตลอดเวลาแทบทุกวัน ไม่ใช่เป็นๆ หายๆ อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า ควรปรึกษาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ปรึกษา และรักษาต่อไป

โรคซึมเศร้า รักษาได้อย่างไร?

สำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีทั้งการรักษาโดยการใช้ยา การใช้จิตบำบัด การปรับมุมมองเปลี่ยนความคิด การปรึกษาจิตแพทย์ โดยวิธีการรักษาควรได้รับการประเมินโดยแพทย์เท่านั้น

นอกจากนี้การให้กำลังใจจากครอบครัว คนใกล้ชิด ถือเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ต้องระวังเป็นอย่างมาก เพราะมีโอกาสคิดสั้นฆ่าตัวตายสูง หากมีเรื่องกระทบกระเทือนใจแม้เพียงนิดเดียว โดยจากสถิติพบว่า มากกว่าร้อยละ 60 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายมีภาวะของโรคซึมเศร้าด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสุขภาพจิต, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, กระทรวงสาธารณสุข

 

ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพได้ที่  delphiabc.com